อบต.โคกเคียน จ.นราธิวาส ศึกษาดูงานการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมครบวงจร มุ่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นตามแนวทางมหาวิทยาลัยทักษิณ

กลับ    18 เม.ย. 68  /   217

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส นำโดยนายรุสลัน อารง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกเคียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกทั้งตำบล รวมจำนวนกว่า 184 คน ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปปรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมภายในตำบลโคกเคียน

 

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณฤทัยรัตน์ โชติพานิช หัวหน้าสำนักงานวิทยาเขตพัทลุง ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง เป็นผู้กล่าวต้อนรับ พร้อมนำเสนอแนวคิดและผลการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งด้านการคัดแยกขยะ การรีไซเคิล การจัดพื้นที่สีเขียว การลดคาร์บอน และการมีส่วนร่วมของบุคลากรและนิสิตในทุกระดับ

 

จากนั้น ดร.นฤเบศร์ ซังปาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม สำนักงานวิทยาเขตพัทลุง พร้อมด้วยคุณรัตนาภรณ์ หึงขุนทด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร อาทิ การบริหารจัดการขยะต้นทางและปลายทาง การวิเคราะห์สถิติข้อมูลขยะ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขับเคลื่อนระบบคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs) ของมหาวิทยาลัย

 

กิจกรรมยังประกอบด้วยการเยี่ยมชมพื้นที่จริงในมหาวิทยาลัย โดยนั่งรถรางนำชมเส้นทางสีเขียว ระบบจัดการน้ำเสีย สถานที่คัดแยกขยะ และพื้นที่ต้นแบบด้านภูมิทัศน์ ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้พื้นที่อย่างแท้จริง

 

การศึกษาดูงานครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันอุดมศึกษา โดยมหาวิทยาลัยทักษิณได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่