บัวสายบานเต็มทุ่ง ที่ ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

กลับ    26 ก.พ. 67  /   768

 

ทุ่งบัวสายสีชมพูสวยงาม สถานที่แห่งใหม่ที่ถูกค้นพบใน ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

เตรียมพร้อมพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน นักเรียน นิสิต และบุคลากร


ทุ่งบัวสาย ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ออกดอกบานสะพรั่งสีชมพูสวยงาม ตัดกับสีเขียว บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติ ถือเป็นการค้นพบสถานที่แหล่งใหม่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และเป็นสถานที่ที่พร้อมจะพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนในพื้นที่ นักเรียน นิสิต และบุคลากร ได้ผ่อนคลายจากการชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามในพื้นที่ที่ไม่ต้องเดินทางไปแสงหาจากที่อื่น ทุ่งบัวสายดังกล่าวจะอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มอาคารคณะพยาบาลศาสตร์ ระยะห่างจากคณะพยาบาลฯ ประมาณ 300 เมตร ใช้วิธีการเดินเท้าเข้าไป หรือขี่รถมอเตอร์ไซต์เข้าไปถึงพื้นที่ รถยนต์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพัฒนาและปรุงเส้นทาง

 

บัวสายเป็นชื่อรวมของพืชในวงศ์ Nymphaeaceae สกุล Nymphaea เป็นพืชล้มลุกขึ้นอยู่ในน้ำ เหง้าฝังอยู่ในโคลนตม ก้านใบและก้านดอกเป็นสายยาวเชื่อมระหว่างเหง้า(ลำต้นใต้ดิน) กับใบหรือดอกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีเปลือกเป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มก้านใบและก้านดอก เนื้อในก้านโปร่ง หากเด็ดออกจากกันจะมีเส้นใยบาง ๆ เชื่อมต่อระหว่างทั้งสองส่วน ใบเป็นแผ่นบางอ่อนกลมลอยบนผิวน้ำ ดอกโผล่พ้นผิวน้ำ ด้านนอกมีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ภายในมีกลีบดอกหลายชั้น มีผลเป็นฝักกลม ๆ เรียกว่าโตนดบัว ภายในผลมีเม็ดกลมขนาดเล็ก ดอกของบัวสายมีหลายสีแตกต่างกันไปตามชนิด เช่น ดอกสีชมพู ขาว แดง เหลือง เขียว คราม น้ำเงิน ฯลฯ
บัวสายมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Nymphaea lotus Linn. Var. pubescens Hook. F. et Th. ใบเป็นแผ่นกลม ขอบใบเป็นยัก ดอกมีสีแดง(ชมพูแก่) หรือขาว (พันธุ์ดอกขาวเรียกว่าสัตตบรรณ) บัวสายนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมาเนิ่นนาน ซึ่งนอกจากใช้เป็นผักแล้ว ยังนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบในภาษาไทยอีกด้วย

โดยสถานที่ดังกล่าว มหาวิทยาลัยมีแผนในการปรับปรุงและพัฒนาเป็นสถานที่ปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น และพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุ์พืช ตลอดจนมีแผนในการปลูกแปะก๊วยจากประเทศจีน ฉะนั้นสถานที่ดังกล่าวถือเป็นสถานที่ที่จะมีการขยายและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้รู้ทางการเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของวิทยาเขตพัทลุงอีกด้วย

ภาพ : นฤเบศร์ ซังปาน/ชาครินทร์ ไชยมณี 
เนื้อหา : สำนักงานวิทยาเขตพัทลุง