โซลาร์รูฟท็อป ม.ทักษิณ หลังคาผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด สู่ Green University ทั้ง 2 วิทยาเขต

   6 ต.ค. 67   /  56

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง กล่าวถึงต้นทางการเริ่มต้นให้ความสนใจหันมาใช้พลังงานสะอาดของมหาวิทยาลัยทักษิณ เริ่มมาจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก จึงมีนโยบายใช้พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนามหาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยทักษิณมีทรัพยากรที่เหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำโซลาร์รูฟท็อป (solar rooftop) ซึ่งได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง

โครงการบริหารจัดการพลังงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1,973 กิโลวัตต์สูงสุด ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึง 60% และคาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปีนี้ โดยแบ่งแยกติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองวิทยาเขตของมหาลัยทักษิณ ประกอบด้วย พื้นที่ มหาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง กำลังผลิตติดตั้งรวม 983 กิโลวัตต์

1. อาคารวิศวกรรมพื้นฐาน กำลังผลิตติดตั้ง : 198 กิโลวัตต์ 2. อาคารเฉพาะทาง 1 กำลังผลิตติดตั้ง : 156 กิโลวัตต์ 3. อาคารเฉพาะทาง 2 กำลังผลิตติดตั้ง : 158 กิโลวัตต์ 4. อาคารหอพักอินทนิล 3 และ 4 กำลังผลิตติดตั้ง : 158 กิโลวัตต์ 5. อาคารหอพักอินทนิล 1 และ 6 กำลังผลิตติดตั้ง : 165 กิโลวัตต์ 6. อาคารหอพักอินทนิล 7 และโรงอาหาร กำลังผลิตติดตั้ง: 147 กิโลวัตต์

 

  

พื้นที่มหาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา กำลังผลิตติดตั้งรวม 992 กิโลวัตต์

1. อาคารศึกษาศาสตร์ กำลังผลิตติดตั้ง : 336.60 กิโลวัตต์

2. อาคารหอประชุมเปรมดนตรี กำลังผลิตติดตั้ง : 356 กิโลวัตต์

3. อาคารหอสมุดกลาง กำลังผลิตติดตั้ง : 160 กิโลวัตต์

4. อาคารสนามกีฬาอัฒจันทร์ กำลังผลิตติดตั้ง : 138 กิโลวัตต์

  

“สำหรับผลตอบแทนที่ได้รับถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะการที่เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้นมหาวิทยาลัยทักษิณจะได้สิทธิการลดค่าไฟได้ถึง 20% ของค่าไฟที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อป โดยสะสมทั้งโครงการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าต่อปีเฉลี่ย 1.6 ล้านบาท และภายในระยะเวลาสัญญา 25 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 40 ล้านบาท นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณยังได้รับความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการติดตั้ง EV Charger ขนาดไม่น้อยกว่า 120 กิโลวัตต์ จำนวน 2 หัวจ่าย โดยติดตั้งวิทยาเขตละ 1 เครื่อง ที่พร้อมรองรองรับ PEA VOLTA Application ด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ กล่าว

เนื่องจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีแสงอาทิตย์เพียงพอในการนำมาผลิตพลังงานได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นส่วนผลักดันนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โครงการนี้จึงถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ นำไปสู่การเป็นนตัวอย่างหรือเป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สามารถต่อยอดการวิจัยด้านพลังงานสะอาดให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย